Superstition about Ghost Steamer
ผีหม้อนึ่ง
ความสำคัญ
-
เป็นความเชื่อเรื่องผีของคนไตลื้อ
-
ผีหม้อนึ่งช่วยรักษาผู้ป่วยด้วยการทำนายและแนะนำการแก้ไข
-
Superstition about Ghost Steam of Tailue.
-
Ghost steamer or Pee-Mor-Nung, the mystery that heals the sick.
-
They are asking for illness and correcting it.
ความเป็นมา
คุณแม่กาญจนา ทัพผดุง หรือแม่จันทร์หอม ผู้สืบทอดการประกอบพิธี “ลงผีหม้อนึ่ง” มาจากคุณแม่ของท่านคือ แม่อุ้ยปา มหายศ ซึ่งแม่อุ้ยปาท่านนี้ ท่านก็ได้สืบทอดต่อจากคุณแม่ของท่านอีกทอดหนึ่ง โดยคุณแม่จันทร์หอมได้เล่าว่า เมื่อครั้งที่แม่อุ้ยปาเสียชีวิตนั้น ท่านก็ไม่ได้คำนึงถึงสิ่งเหล่านี้เลยเพราะเข้าใจว่าผีหม้อนึ่งคงจะสิ้นไปพร้อมกับแม่อุ้ยปาแล้ว
แต่ต่อมาภายหลังจากที่ลูกสาวของท่าน คือน้องจิ๋ม ได้แต่งงานมีครอบครัวแล้วเกิดล้มป่วยจนร่างกายซูบผอม ต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบันจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้งในตัวอำเภอ และตัวจังหวัด อาการเจ็บป่วยก็ไม่หาย จนในที่สุด แม่จันทร์หอมจึงหันหน้าไปพึ่งเจ้าเข้าทรง โดยได้ถามว่า “ทำไมลูกสาวถึงป่วย รักษาไม่หาย” เจ้าเข้าทรงจึงบอกว่า “มีของดีอยู่ในบ้าน ซึ่งของดีนั้นไม่ได้ตามแม่อุ้ยปาที่สิ้นอายุขัยไป ให้คุณแม่จันทร์หอมมาเป็นผู้ดูแลสืบทอด เพื่อรักษาคนในหมู่บ้านต่อไป”
นับแต่นั้นเป็นต้นมาคุณแม่จันทร์หอมจึงทำพิธีบอกกล่าวให้ผีหม้อนึ่งรับรู้พร้อมกับบอกว่าท่านจะเป็นผู้ดูแลรักษาสืบทอดการลงผีหม้อนึ่งไว้ตลอดไป เมื่อได้ตั้งสัจอธิษฐานดังนั้นแล้ว ลูกสาวของท่านตลอดจนทุกคนในครอบครัวต่างก็มีความสุข หายจากโรคภัยไข้เจ็บ ปัจจุบันแม่จันทร์หอมได้เสียชีวิตลงโดยลูกสาวของท่านได้รับช่วงต่อและสืบทอดมรดกภูมิปัญญาด้านความเชื่อนี้ต่อจากท่าน
การประกอบพิธี “ลงผีหม้อนึ่ง” หากมีผู้ต้องการมาขอความช่วยเหลือจากผีหม้อนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ จะต้องเตรียมปัจจัย 6 อย่าง ดังนี้ 1. เงินจำนวน 5 บาท 2. ข้าวสารจำนวน 2 ลิตร 3. กรวยดอกไม้ธูปเทียนจำนวน 4 ชุด 5. หมากพูลจำนวน 4 กรวย และ 6. เสื้อผ้าที่ผู้ป่วยชอบใส่เป็นประจำ โดยต้องนำปัจจัยทั้ง 6 อย่างที่กล่าวมาไปหาที่เฮือนผีหม้อนึ่ง เพื่อประกอบพิธีผีลงหม้อนึ่ง ซึ่งการลงผีหม้อนึ่งนั้น เจ้าของบ้านหรือที่เรียกว่า “ผู้ประกอบพิธี” จะนำสิ่งของที่ผู้ต้องการมาขอความช่วยเหลือหรือญาติผู้ป่วย นำมาใส่กระด้งยื่นโยงเพื่อบอกกล่าวให้ “ปู่ดำ ย่าดำ” ลงมา สิงสถิตย์อยู่ใน “หม้อนึ่ง” จากนั้น ผู้ประกอบพิธีจะนำ “ไหข้าว” ที่ต่อด้วยไม้ยื่นออกไปทั้งสองข้างของหม้อนึ่ง เพื่อแทนมือปู่ดำ ย่าดำ แล้วนำมาตั้งวางไว้ที่ปากหม้อนึ่ง จากนั้นจึงนำหม้อนึ่งไปถามเพื่อทำการเสี่ยงทายต่อไป